Monday, July 5, 2010

คุณหมอมือใหม่ vs. พ่อแม่มือใหม่ part 2
เรื่องชวนหัวของพ่อแม่มือใหม่ยังไม่จบแค่นั้นครับ ยังมีเรื่องราวใ้ห้ขำอยู่ได้เรื่อยๆ ยังมีตอนสืบเนื่องจากเรื่องที่เล่าคราวที่แล้วอีกนิดหน่อย ในฐานะหมอเด็ก(แพทย์ใช้ทุนประจำหน่วยกุมารเวชศาสตร์) สิ่งสำคัญที่จะต้องถามคือ
1. เด็กกินได้ไหม
2. เด็กซึมลงไหม
3. เด็กขับถ่ายเป็นอย่างไร ปกติดีไหม

มีคุณแม่รายหนึ่งนำลูกอายุ 11 วันมาหาคุณหมอด้วยเรื่องท้องเสียถ่ายเหลว
"คุณหมอคะ น้องแย่แล้วค่ะ" คุณแม่กล่าวด้วยสีหน้าวิตกกังวล คุณพ่อยืนอยู่ด้านหลัง พยายามทำตัวให้กลมกลืนกันวอร์เปเปอร์
"แย่ยังไงครับ ช่วยเล่าให้คุณหมอฟังหน่ิอย" คุณหมอถาม
"น้องถ่ายหลายครั้งมากค่ะ ลักษณะป็นมูกๆน้ำๆ" คุณแม่เล่า
"ถ่ายกี่ครั้งแล้วครับ ลักษณะเป็นยังไง" คุณหมอซักต่อ
"ก็ถ่าย 3-4 ครั้งแล้วนะคะวันนี้ ลักษณะเป็นยังไงบอกไม่ถูกค่ะ เป็นเม็ดๆมีน้ำปน เดี๋ยวหนูเปิดให้คุณหมอดูนะคะ" คุณแม่พูดจบก็เปิดผ้าอ้อม ทำให้กลิ่นอับชื้อบวกกับกลิ่นอุจจาระออกมาคละคลุ้งอบอวนห้องตรวจ คุณหมอเหม็นกลิ่นอึเด็ก แต่ก็ยังทำใจเย็นราวกับว่ากลิ่นอึเด็กนั้นไม่เหม็น คุณหมอตรวจอุจจาระในผ้าอ้อม ลักษณะอุจจาระเป็นเม็ดสีเหลืองทอง ปนกับน้ำเล็กน้อย ซึ่งเป็นลักษณะปกติของทารกที่กินน้ำนมมารดา
"ลักษณะอึก็ปกติดีนะครับ..." คุณหมอบอก แต่ไม่ทันที่คุณหมอจะกล่าวจบคุณแม่ก็สวนขึ้นมาว่า "แล้วกลิ่นล่ะคะ เหม็นอย่างงี้ไม่ผิดปกติหรือคะ" คุณหมออึ้งกับคำถามเล็กน้อย ในใจก็คิดว่า ขี้ใครฟะจะไม่เหม็น แต่ก็ยิ้มตอบคุณแม่ไปอย่างสุภาพว่า "ไม่หรอกครับ ไม่เหม็นเปรี้ยวหรือเหม็นคาว ถือว่าปกติครับ"
"แต่น้องซึมลงด้วยนะคะ" คุณแม่เล่าต่อ
"น้องซึมลงยังไงครับ" คุณหมอถาม
"น้องไม่ยิ้มเล่นกับคุณแม่ค่ะ" คุณแม่บอก
"..." คุณหมอมือใหม่ถึงกับงงกับสิ่งที่คุณแม่มือใหม่เล่า เพราะเท่าที่ได้เล่าเรียนมา กว่าเด็กจะยิ้มก็ต้องอายุประมาณสองเดือนเข้าไปแล้ว คุณหมอแอบคิดในใจว่า ตอนนี้ตาเด็กมันมองเห็นหรือยังก็ไม่รู้ จะมายิ้มเล่นได้ยังไง ตรูงงไปหมดแล้วนะเนี่ย ด้วยสติปัญญาและไหวพริบ คุณหมอเลยถามไปว่า "นี่ลูกคนแรกหรือเปล่าครับ"
"ใช่ค่ะ" คุณแม่ตอบ
"หมอเข้าใจครับว่าคุณแม่กังวล แต่น้องปกติดีนะครับ ลักษณะอุจจาระปกติดี น้องไม่ยิ้มเล่น ในวัยนี้ถือว่าปกติครับ เด็กซึมในอายุน้อยๆ บอกยากครับ ส่วนมากก็จะดูจากการดูดนม ถ้าดูดนมได้น้อยลง หรือไม่ค่อตื่นเวลาปลุกให้กินนม อย่างนั้นถึงจะเรียกว่าซึมนะครับ ไม่ยิ้มเล่นเนี่ยไม่นับ"
หลังจากที่คุณพ่อทนฟังอยู่นาน คุณพ่อก็พูดขึ้น "เห็นมั้ย หมอที่ีไหนก็บอกเหมือนกันว่าปกติ ยังไม่เชื่อคุณหมอเค้าอีกเหรอ"
"..." คุณหมองงหนัก เลยถามไปว่า "อ้าว เคยไปตรวจมาก่อนหน้านี้เหรอครับ"
"เนี่ยก็โรง'บาลที่สามแล้วหมอ" คุณพ่อตอบ "แม่มันไม่ยอมเชื่อสักทีว่าลูกไม่เป็นไร"
คุณหมอเครียดสิครับ ในใจก็คิดว่า อะไรเนี่ย ไปมาตั้งหลายที่แล้วยังไม่เชื่ออีก แล้วที่ตรูบอกไปเมื่อกี้จะเชื่อมั้ยเนี่ย แต่ก็ยังวางมาดคุณหมอผู้ใจดี พูดปลอบไปว่า
"ไม่เป็นไรหรอกครับ เป็นปกติที่คุณแม่จะกังวล ยิ่งเป็นลูกคนแรกด้วย ต่อไปมีประสบการณ์ความกังวลก็จะ้น้อยลงเอง หมอแนะนำว่าให่ลองถามวิธีการเลี้ยงดูจากผู้ใหญ่ เช่น คุณย่า หรือคุณยาย ถ้าไม่สะดวกก็หาซื้อคู่มือการเลี้ยงลูกมาไว้สักเล่ม ไม่ต้องอ่านตั้งแต่ต้นจนจบก็ได้ครับ เอาเผื่อไว้เวลาสงสัยอะไรแล้วค่อยเปิดดู ถ้ายังไม่ได้คำตอบค่อยมาหาหมอ ไม่อย่างงั้นไปหาหมอบ่อยๆ เสียทั้งเงินทั้งเวลานะครับ"

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เวลาได้ข้อมูลแปลกๆ ควรซักเสมอว่าเป็นลูกคนที่เท่าไรและเลี้ยงเองหรือไม่

Wednesday, June 23, 2010

กุมารเวชศาสตร์พาเพลิน

ในการใช้ทุนนั้น แพทย์จบใหม่ต้องผ่านการปฏิบัติงานในหน่วยงานหลักสี่หน่วยงานด้วยกัน คือ อายุรศาสตร์ (เรียกสั้นๆว่า Med ซึ่งย่อมาจาก Internal Medicine) ศัลยศาสตร์ (เรียกสั้นๆว่า ศัลย์) กุมารเวชศาสตร์ (เรียกสั้นๆว่า เด็ก) สูติ-นรีเวชศาสตร์ (เรียกสั้นๆว่าสูติ)

ผมเริ่มต้นการใช้ทุนด้วยการขึ้นวอร์ดเด็ก (วอร์ด มาจากคำภาษาอังกฤษ ward; ใช้เรียกแทน หอผู้ป่วย ภาควิชา หรือหน่วยงานที่แพทย์ขึ้นปฎิบัติงาน) ด้วยความที่ผมเป็นคนชอบเด็กอยู่แล้ว การปฏิบัติงานในหน่วยงานนี้จึงผ่านมาอย่างมีความสุข มีเรื่องราวสนุกสนานมากมายเกิดขึ้น เรื่องราวที่ผมจะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง บางครั้งก็เป็นสิ่งที่คนทั่วไปคาดไม่ถึงเหมือนกันครับ

คุณหมอมือใหม่ vs. พ่อแม่มือใหม่
การรับมือกับพ่อแม่เด็กเป็นเรื่องที่ทำกันไม่ได้ง่ายๆ โดยเฉพาะพ่อแม่มือใหม่ด้วยแล้ว บางครั้งหมอมือใหม่อย่างผมถึงกับต้องนั่งกุมขมับ ผมเข้าใจดีครับว่าพ่อแม่แต่ละคนก็เป็นห่วงลูกตัวเองกันทั้งนั้น แต่เรื่องบางเรื่องก็ทำให้ผมอดอมยิ้มไม่ได้เวลาตรวจคนไข้

ไข้ผ้าห่ม
"คุณหมอคะ ลูกหนูตัวร้อนค่ะ" คุณแม่ยังสาวรายหนึ่งหน้าตาตื่นเข้ามาหาหมอ
"แล้วเด็กล่ะครับ อยู่ไหน" หมอหนุ่มถามอย่างใจเย็น
"แฟนหนูกำลังอุ้มตามมาค่ะ" คุณแม่ยังมีท่าทีกังวลใจ
"คุณแม่ใจเย็นๆนะครับ" คุณหมอพูดอย่างใจเย็น แต่กลับต้องตะลึงเมื่อเห็นชายหนุ่มอุ้มกองผ้าห่มเข้ามาในห้องตรวจ
โอ้แม่เจ้า! หมอหนุ่มคิด นี่ตรูยังอยู่ประเทศไทยหรือเปล่าเนี่ย สภาพเด็กน้อยอายุประมาณเจ็ดวัน อยู่ในกองผ้าห่มหนาราวกับว่าเพิ่งเดินทางมาไซบีเรีย หลังจากให้คุณพ่อวางเด็กลงบนเตียงตรวจคนหมอหนุ่ม รีบลอกผ้าห่มออกทีละชั้น ขณะนั้นอุณหภูมิภายนอกอยู่ที่ประมาณ 38 องศาเซลเซียส เหงื่อกาฬหมอหนุ่มเริ่มแตก ในใจก็คิดว่า แค่นี้ก็ร้อนจะตายอยู้แล้ว จะห่มผ้าอะไรนักหนา
หลังจากลอกผ้าห่มออกและถอดเสื้อผ้าเด็กน้อยออกที่ละชิ้นเหมือนการปอกหัวหอม ก็พบว่า เด็กใส่เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว สวมถุงมือถุงเท้า ใส่หมวก เอาผ้าขนหนูทบสี่ชั้นห่อตัวเด็ก แล้วห่มผ้านวมทับอีกชั้นหนึ่ง
"คุณเลี้ยงลูกในห้องแอร์หรือเปล่าครับ" หมอหนุ่มถาม
"เปล่าค่ะ" คุณแม่ตอบ
"..." หมองง "แล้วคุณเลี้ยงยังไงครับ"
"อ๋อ ก็ห่มผ้าอย่างที่คุณหมอเห็น แล้วก็นอนเปิดพัดลม แต่ไม่ได้เอาพัดลมเป่าตัวลูกเพราะหนูกลัวลูกจะไม่สบาย" คุณแม่ตอบ
"..." หมองงหนัก พูดอะไรไม่ออก แต่ก็ฝืนยิ้มแล้วพูดออกไปอย่างใจเย็นว่า "ตอนนี้หน้าร้อนนะครับ ข้างนอกอากาศร้อน ไม่จำเป็นต้องสวมเสื้อผ้าหนาๆก็ได้ อย่างน้องก็ใส่เสื้อผ้าบางๆ ไม่จำเป็นต้องใส่แขนยาว ถุงมือไม่จำเป็นต้องใส่ ถ้าคุณแม่ดูแลเอง ถ้ากลัวน้องจะข่วนหน้าข่วนตา ให้ใส่เฉพาะเวลานอน หมวกกับถุงเท้าไม่จำเป็นต้องใส่ถ้าไม่ได้นอนห้องแอร์ ไม่ต้องห่อตัว ถ้าจะห่มผ้าก็ให้ห่มผ้าบางๆไม่ต้องทบหลายชั้น ลูกคุณอาจจะไม่ได้มีไข้ก็ได้ แค่ตัวร้อนจากการห่มผ้า"
"แต่ลูกหนูมีไข้จริงๆนะคะ" คุณแม่ยืนยัน
"แล้วน้องมีอาการอื่นไหมครับ เช่น ซึมลง ดูดนมได้น้อยลง" คุณหมอถาม
"ไม่ค่ะ" คุณแม่ยืนยัน
"คุณหมอเข้าใจว่าคุณแม่กังวล เอาอย่างนี้ละกัน เดี๋ยวคุณหมอให้น้องนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการละกันครับ ถ้าดูแล้วไม่มีไข้พรุ่งนี้ค่อยกลับบ้าน" คุณหมอเสนอ

หลังจากที่เด็กเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล พยาบาลก็โทรมาแจ้งว่า หลังจากที่เด็กขึ้นมาบนหอผู้ป่วย ก็ไม่มีอาการตัวร้อนและไม่มีไข้ สุดท้ายแล้วผู้ป่วยเด็กน้อยรายนี้ก็ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นภาวะอุณหภูมิสูงจากสภาวะแวดล้อม (Environmental Hyperthermia) หลังจากนั้น หากผมเจอผู้ป่วยเด็กเล็กที่มาด้วยอาการไข้ ผมต้องถามพ่อแม่ทุกครั้งว่า เลี้ยงดูอย่างไร ห่มผ้าให้ลูกกี่ชั้น มีอาการอื่นๆร่วมด้วยหรือไม่ ผู้ป่วยรายนี้สอนให้ผมรู้ว่า อาการตัวร้อน ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการเป็นไข้เสมอไปครับ

คำสารภาพของแพทย์ใช้ทุนปีที่หนึ่ง (Confessions of a First Year Medical Intern)

สวัสดีครับ ผมเองก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มเล่าเรื่องของผมอย่างไรดี ผมเป็นแพทย์จบใหม่ ที่กำลังใช้ทุนในปีแรกอยู่ เรียกง่ายๆว่าแพทย์ใช้ทุนปีที่หนึ่ง (ศัพท์ทางการเรียกว่าแพทย์เพิ่มพูนทักษะปีที่หนึ่ง) หลายคนอาจถามว่าทำไมถึงต้องใช้ทุน ผมเรียนดีขนาดได้ทุนการศึกษาอย่างนั้นเลยเหรอ คำตอบคือเปล่าครับ ผมไม่ได้เรียนเก่งอะไร ผลการเรียนที่ผ่านมาก็ปานกลาง เรียนๆเล่นๆ ทำกิจกรรม หาความสุขกับชีวิตไปเรื่อยๆ ระหว่างที่คนอื่นเค้าตะบี้ตะบันอ่านหนังสือกัน ผมก็อ่านหนังสืออ่านเล่นบ้าง ไปเที่ยวดูหนังฟังเพลงบ้าง เวลาใกล้สอบ เพื่อนๆยกหนังสือเป็นกองๆมาตั้ง แล้วก็นั่งอ่านกันหามรุ่งหามค่ำ ผมก็มานั่งเลือกว่า อ่านอันไหนดี อ่านไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นที่จะต้องอ่านมันทุกบททุกตอน แล้วก็เข้านอนแต่หัวค่ำ ออกนอกเรื่องไปเยอะ กลับเข้าเรื่องเลยละกันนะครับ หลายคนคงอยากรู้ว่าทำไมหมอจะต้องใช้ทุน นั่นเพราะว่าค่าใช้จ่ายในการเรียนแพทย์มันไม่ใช้น้อยๆครับ รัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการผลิตแพทย์ ตกหัวละเป็นล้านบาทต่อปี ในขณะที่ผู้ที่เรียนแพทย์เสียค่าใช้จ่ายไม่ถึงสองหมื่นบาทต่อหนึ่งเทอม (น้อยกว่าครึ่งแสนต่อหนึ่งปี) ดังนั้นหลังจากที่นิสิต-นักศึกษาแพทยศาสตร์ทั้งหลายจบการศึกษา จึงจำเป็นที่จะต้องทำงานใช้ทุน หรือกล่าวง่ายๆคือทำงานให้รัฐบาลเพื่อทดแทนค่าใช้จ่ายในการศึกษา หลายคนคงจะคิดว่า เรียนตั้งหกปี จบมาคงจะเก่ง บางครั้งมันไม่ได้เป็นอย่างนั้นครับ เพราะการเรียนจากตำรา บางครั้งมันแทบจะไม่ได้ช่วยอะไรพวกผมเลยเมื่อปฏิบัติงานจริง ดังนั้นจึงเป็นที่มาของคำว่า "แพทย์เพิ่มพูนทักษะ" เพราะการทำงานใช้ทุนนั้น เป็นเหมือนการเรียนต่อของพวกหมออย่างผม มันคือการเรียนรู้จากการได้ปฏิบัติงานจริงกับคนไข้จริง ผมเริ่มทำงานมาได้ไม่นานครับ แต่ผมก็ได้เจอกับเหตุการณ์ต่างๆ หลายๆเหตุการมันอดทำให้ผมขำไม่ได้ ผมเลยอยากจะรวบรวมเอาเหตุการณ์เหล่านั้นมาเล่าสู่กันฟัง